วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552


แหล่งน้ำใต้ผิวดิน
แหล่งน้ำธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งให้น้ำสำหรับทำการชลประทานได้ คือ แหล่งน้ำใต้ผิวดิน ในท้องที่ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำบนผิวดินนั้น มนุษย์รู้จักการนำน้ำจากแหล่งน้ำใต้ผิวดินขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ สำหรับการอุปโภค บริโภค และสำหรับใช้เพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
น้ำที่มีอยู่ใต้ผิวดิน คือ น้ำที่ได้มาจากน้ำฝนที่ตก แล้วซึมผ่านลงไปสะสมอยู่ในช่องว่างของดิน ทราย และกรวด ตลอดจนรอยแตกและโพรงของหินที่อยู่ใต้ผิวดินนั้น เมื่อขุดบ่อลงไปจนถึงชั้นที่มีน้ำสะสมอยู่ เช่น ชั้นทราย และกรวด ซึ่งน้ำไหลผ่านได้ดี เวลาใดที่นำน้ำขึ้นไปใช้ทำให้น้ำในบ่อลดลง ก็จะมีน้ำไหลเข้ามาแทนที่อยู่เสมอ บ่อน้ำที่ใช้สำหรับการชลประทานจะมีขนาดที่เหมาะสมอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของชั้นทราย หรือชั้นกรวดที่เป็นแหล่งสะสมน้ำ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้เป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วบ่อน้ำใต้ดินแห่งหนึ่ง ๆ จะช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้จำนวนไม่มากนัก
แหล่งน้ำที่สะสมอยู่ใต้ดินที่สำคัญมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. แหล่งน้ำที่ขังอยู่ในช่องว่างของดิน โดยมีผิวน้ำใต้ดินสัมผัสกับบรรยากาศ แหล่งน้ำใต้ผิวดินประเภทนี้มักเป็นน้ำขังอยู่ในดินชั้นแรก ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากน้ำบนผิวดินซึมลงไปสะสมอยู่เต็มในช่องว่างของดิน ทราย และกรวดโดยตรง จำนวนน้ำในชั้นดินดังกล่าว สามารถไหลถ่ายเทได้อย่างอิสระเมื่อชั้นผิวน้ำใต้ดินนั้นมีความลาดเอียง บ่อน้ำตื้นสำหรับใช้อุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งนี้
2. แหล่งน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำในชั้นทรายและกรวด ในช่องว่างหรือรอยแตกแยกของหิน ซึ่งอยู่ภายใต้ชั้นดินปิดทับด้านบน แหล่งน้ำบาดาลเกิดจากน้ำบนผิวดิน ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ ไหลซึมผ่านชั้นดินลงไปเก็บกักอยู่ในชั้นทราย กรวด หรือรอยแตกของหินดังกล่าว น้ำในแหล่งน้ำบาดาลส่วนใหญ่จะถูกสะสมอยู่ภายใต้แรงดัน ซึ่งน้ำในบ่อที่เจาะส่วนใหญ่จะมีระดับสูงขึ้นมาใกล้กับผิวดิน หรือบางแห่งอาจล้นปากบ่อขึ้นมาเองก็ได้
การเจาะบ่อเพื่อนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค และเพื่ออุตสาหกรรม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร และบริเวณใกล้เคียง แต่สำหรับเพื่อการเพาะปลูกแล้ว ถ้าชั้นน้ำบาดาลอยู่ลึกจากผิวดินไม่มาก ราษฎรมักนิยมเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับตื้นประเภทบ่อตอก โดยใช้ท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ตั้งแต่ 2 - 4 นิ้ว เจาะลงไปจนถึงชั้นทรายและกรวด เช่น ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน และในบริเวณพื้นที่ราบภาคกลางตอนบน ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก เป็นต้น

1 ความคิดเห็น: